‘มทร.ตะวันออก’ พลิกขั้วบัณฑิตพันธุ์ใหม่ รับ ‘อีอีซีโมเดล’ โรงงานจองตัวก่อนจบ สตาร์ท 2 หมื่นอัพ

  • Home
  • Article on a University
  • ‘มทร.ตะวันออก’ พลิกขั้วบัณฑิตพันธุ์ใหม่ รับ ‘อีอีซีโมเดล’ โรงงานจองตัวก่อนจบ สตาร์ท 2 หมื่นอัพ

ด้วยนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยโตกว่าร้อยละ 5 เกิดเป็นโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี สนับสนุนการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร


จาก ‘สัตหีบโมเดล’ สู่ ‘อีอีซีโมเดล

การที่ 10 อุตสาหกรรมดังกล่าวจะขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยแรงงานฝีมือขั้นสูง นำมาสู่การพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา–ชลบุรี–ระยอง) ด้วยการศึกษาและสำรวจความต้องการจากอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อคาดการณ์กำลังคนที่ต้องการในแต่ละอุตสาหกรรม จากนั้นดำเนินการจัดปรับการศึกษาให้เป็นแบบ Demand Driven ที่ต้องมีอุตสาหกรรมมารองรับ หรือ สัตหีบโมเดล ก่อนพัฒนาเป็น อีอีซี โมเดล (EEC Model) กระจายความร่วมมือไปยังสถานศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา โดยมี EEC HDC ประสานงานทุกระดับการขับเคลื่อน

หลักการ Demand Driven

มทร.ตะวันออกโชว์ความสำเร็จ

อาจารย์ทัศพันธุ์สุวรรณทัตผู้ช่วยอธิการบดีและประธานหลักสูตรวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก) กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการอีอีซีโมเดลว่า มทร.ตะวันออกเปิดหลักสูตรเมคคาทรอนิกส์มาประมาณ 5 ปี โดยปีที่แล้วได้เข้าร่วมโครงการอีอีซีโมเดล ทำข้อตกลงกับ 22 โรงงาน และส่งนักศึกษารุ่นแรกประมาณ 30 คน ออกฝึกงาน 4 เดือน ปรากฏว่าโรงงานชอบมาก เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่นำเครื่องจักรอัตโนมัติเข้าไปทดแทนแรงงานไร้ฝีมือ และเด็กๆ พวกนี้ก็มีความสามารถด้านการสร้างเครื่องจักรและดูแลพัฒนาหุ่นยนต์อุตสาหกรรมอยู่แล้ว จึงตรงกับความต้องการของโรงงาน

“ยกตัวอย่างโรงงานของยุโรปแห่งหนึ่ง ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน ชอบฝีมือเด็กมาก รับเด็กเข้าทำงานทั้งที่ยังไม่ได้รับปริญญา หมายความว่ายังไม่จบ ต้องกลับมาสอบอีก แต่รับเข้าทำงานก่อน ให้เงินเดือนในอัตราปริญญาตรี โดยขอให้ไปเก็บรายวิชาในวันเสาร์–อาทิตย์ คือยอมจ้างเด็กในอัตราปริญญาตรีทั้งที่ยังศึกษาอยู่ ผมเลยแจ้งกับ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธาน EEC HDC ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนแบบอีอีซีโมเดล ประสบความสำเร็จมาก เมื่อวัดจากอัตราการรับเด็กเข้าทำงาน”


สตาร์ทขั้นต้น 2 หมื่นอัพ

อาจารย์ทัศพันธุ์กล่าวต่อว่า รูปแบบของอีอีซีโมเดลจะมีการคุยกับสถานประกอบการก่อนว่าเด็กที่กำลังศึกษาในแต่ละรุ่นมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ละโรงงานต้องการเด็กจำนวนเท่าไหร่ โดยแบ่งเป็น 2 ไทป์ คือ

  • ไทป์ A มหาวิทยาลัยจะทำสัญญาความร่วมมือกับโรงงานเลยว่า เมื่อโรงงานคัดเลือกเด็กแล้ว ต้องจ่ายทุนค่าเล่าเรียน มีเงินเดือนระหว่างฝึกงาน จนถึงการการันตีรับเข้าทำงานหลังจบการศึกษา ซึ่งปีนี้โรงงานที่เข้ามาคุยในไทป์นี้แล้วคือ ซัมซุง ซีพีก็ทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มมีโรงงานอื่นเข้ามามากขึ้นทุกวัน
  • ไทป์ B เป็นโรงงานที่สนับสนุนทุนการศึกษา มีรายได้ระหว่างฝึกงาน แต่ไม่มีการลงนามสัญญารับเด็กเข้าทำงานหลังจบการศึกษา แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะรับเข้าทำงานต่อเลย อย่างรุ่น 1 ที่เพิ่งจบมากกว่า 50% รับเข้าทำงานเป็นพนักงานประจำ

ส่วนไทป์ C เป็นระบบการเรียนการสอนแบบเดิม จบแล้วไปฝึกงานตามสถานประกอบการต่างๆ เป็นการฝึกงานทั่วไป ไม่การันตีความรู้ที่เด็กจะได้รับจากสถานประกอบการ ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีค่าจ้างระหว่างการฝึกงาน ขณะที่การฝึกงานตรงสายบ้าง ไม่ตรงสายบ้าง ซึ่งในมหาวิทยาลัยทั่วไปยังอยู่ในไทป์นี้เป็นส่วนใหญ่ แต่ มทร.ตะวันออกไม่มีไทป์นี้ เรามีแค่ 2 ไทป์ คือ ไทป์ A กับ ไทป์ B

“สำหรับค่าตอบแทน ถ้าเป็นโรงงานเกรด A บริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ อัตราค่าตอบแทนก้าวหน้ามาก เด็กจบใหม่ปริญญาตรีไม่มีประสบการณ์เขาให้ 2 หมื่นกว่าบาทถึง 3 หมื่น ถ้าเป็น ปวช. ปวส. 2 หมื่นอัพ แถมส่งไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศ รวมค่าเบี้ยเลี้ยง เบี้ยขยัน เดือนหนึ่งประมาณ 3-4 หมื่นบาท อยู่ได้สบาย แต่ถ้าเป็นโรงงานเกรด B หรือ B+ เช่นโรงงานที่เป็นจอยส์เวนเจอร์ระหว่างไทยกับต่างชาติ ในมุมมองของพวกผม เงินเดือนยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก เพราะสตาร์ท 18,000 เปรียบเทียบกับรุ่นผมจบปริญญาตรีเมื่อ 20 ปีที่แล้วสตาร์ท 15,000 ถือว่าอัตราก้าวหน้าน้อยไปหน่อย มหาวิทยาลัยในพื้นที่จึงปรึกษากันว่าจะต่อรองเรื่องนี้ให้กับเด็กๆ สำหรับโรงงานกลุ่มไทป์ B” อาจารย์ทัศพันธุ์ กล่าว



Q : ความพอใจของสถานประกอบการ

A : ถ้าวัดจากนักศึกษากลุ่มแมคคาทรอกนิกส์รุ่นแรกที่จบไปประมาณ 30 คนิโรงงานชอบมาก เนื่องจากอีอีซีโมเดลผลิตเด็กตามความต้องการของอุตสาหกรรม คือรู้ความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมแล้วผลิตเด็กออกมาตามความต้องการนั้น พอเข้าไปปุ๊บก็ทำงานได้เลย เป็นงานที่ตรงกับสายด้วยคือ วิศวกรเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ยิ่งในกลุ่ม ปวช. ปวส. ผลิตได้ไม่เพียงพอ หลายโรงงานร้องขอนักศึกษามาแต่เราไม่สามารถหาเด็กส่งไปได้ เพราะว่าอัตรายังน้อยเกินไป นี่คือสถานการณ์จริงที่ผมรายงานให้ทาง EEC HDC ทราบ


Q : การประสานงานระหว่างสถานศึกษาในพื้นที่?

A : ในคลัสเตอร์ของผมเป็นคลัสเตอร์ออโตเมชั่นแอนด์โรบอติกส์ ซึ่งในสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนทางด้านนี้เชื่อมเครือข่ายกันมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง ซึ่งจับมือกันอย่างใกล้ชิด มีการประชุมแทบทุกสัปดาห์ สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือ อยากให้สถานประกอบการมาจับมือมหาวิทยาลัยให้แน่นขึ้น


Q : ความต้องการแรงงานในพื้นที่

A : ปัจุจบันสถานประกอบการผุดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะโรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือ 10 S Curve สังเกตได้จากอัตราการติดต่อเข้ามายังมหาวิทยาลัย ขอเด็กที่จบกับเด็กที่จะไปฝึกงาน แน่นอนว่าเขาต้องการเด็กจบใหม่มีทักษะหรือฝีมือสูงๆ นั่นเป็นโจทย์เดียวกับที่เรากำลังดำเนินการอยู่


Q : ความแตกต่างระหว่างแรงงานระดับปริญญากับอาชีวศึกษา?

A : ผมว่าใกล้เคียงกัน ในภาคอุตสาหกรรม อัตราความต้องการแรงงานมีหลายแบบ ถ้าเขาต้องการวิศวกรระดับปริญญา ปีหนึ่งอาจมีจำนวนไม่มาก บางโรงงานหนึ่งปีรับแค่ 5-6 คน สูงสุดไม่เกิน 10 คน แต่ถ้าเป็นระดับ ปวช. ปวส. ประเภทช่างเทคนิคปีหนึ่งรับเยอะมาก 30-40 คน เพราะฉะนั้นอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซีจึงมีงานรองรับมาก อัตราการได้งานสูง เพียงแต่ค่าตอบแทนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับมาตรฐานโรงงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานทั้งสองระดับต้องทำงานเชื่อมโยงกัน วิศวกรเป็นคนออกแบบ นายช่างเทคนิคทั้งหลายดูแลการซ่อมบำรุง แต่ต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน

Leave A Comment

X