นับถอยหลัง เปิดตัว ‘ศูนย์เครือข่ายฯโลจิสติกส์ ดิจิทัล’ มทร.ตะวันออก เติมเต็มทุกมิติผลิตบุคลากรโลจิสติกส์สมัยใหม่ ตอบโจทย์ EEC

  • Home
  • Press Release
  • นับถอยหลัง เปิดตัว ‘ศูนย์เครือข่ายฯโลจิสติกส์ ดิจิทัล’ มทร.ตะวันออก เติมเต็มทุกมิติผลิตบุคลากรโลจิสต…

เพื่อให้การทำงานของ คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC HDC หัวเรือใหญ่ด้านการวางแผนผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ได้อย่างตรงจุด จึงเกิดการวาง “โครงสร้างพื้นฐาน” โดยจัดตั้งศูนย์เครือข่ายฯประสานงานระหว่างสถาบันการศึกษาทุกระดับ ซึ่งในปัจจุบัน ศูนย์เครือข่ายฯ ทั้ง 11 ศูนย์ ซึ่งล้วนมีความก้าวหน้าในการจัดตั้งและดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้ เราได้ไปติดตามความคืบหน้าของ 1 ใน 11 ศูนย์มานำเสนอเป็นปฐมบทกัน นั่นคือ ศูนย์เครือข่ายฯโลจิสติกส์ ดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.ตะวันออก)

และแน่นอนว่า ศูนย์เครือข่ายฯโลจิสติกส์ ดิจิทัล ก็มีจุดประสงค์ในการจัดตั้งไม่ต่างกับอีก 10 ศูนย์ นั่นคือ เพื่อสนับสนุนสถาบันที่เป็นแกนนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในแต่ละ S curve และเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ ที่จะมาร่วมกันผลิตและพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุดที่สุด

ทำไม ศูนย์เครือข่ายฯโลจิสติกส์ ดิจิทัล ต้องตั้งอยู่ที่ มทร.ตะวันออก?

ถ้าพูดถึงหลักสูตรที่เกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์ในปัจจุบัน มีสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาเปิดสอนกันอย่างแพร่หลาย ทว่า เมื่อ มทร.ตะวันออก ได้เป็นชัยภูมิที่ตั้งของ ศูนย์เครือข่ายฯโลจิสติกส์ ดิจิทัล ย่อมเกิดคำถามตามมาว่า ในการเรียนการสอนด้านโลจิสติกส์นั้น ทาง มทร.ตะวันออก มีหลักสูตรที่โดดเด่นในด้านนี้อย่างไรบ้าง
รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ อธิการบดี มทร.ตะวันออก ได้มาเป็นผู้ให้ข้อมูลคลายความสงสัยในเรื่องนี้ว่า

“เรากล้าพูดได้ว่า ในระดับประเทศ เราเป็นหลักสูตรแรกๆที่เปิดสอนในเรื่องโลจิสติกส์ ช่วงก่อตั้งแรกๆ เราใช้ชื่อว่า หลักสูตรโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน จนตอนนี้ เปลี่ยนชื่อมาเป็น หลักสูตรโลจิสติกส์และซัพพลายเชน และมีการก่อตั้ง สมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศไทย ขึ้นที่นี่ ซึ่งรวบรวมผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ทั่วประเทศ มาทำงานเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ มทร.ตะวันออก นี้”

สำหรับเนื้อหาในหลักสูตร รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ย้ำว่า เน้นสอนในเรื่องของการบริหารคลังสินค้า หรือ Warehouse วิธีการจัดเก็บสินค้าคงคลังใน Warehouse ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งของการบริหารจัดการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีความจำเป็นมาก เพราะการบริหารจัดการที่ดี ย่อมมีส่วนช่วยในการลดขั้นตอนการขนส่ง และทำให้เกิด Productivity เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

“โดยเฉพาะในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ไปเชื่อมโยงกับระบบซัพพลายเชนต่างๆที่ต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกหลากหลาย และตอนนี้เทรนด์ระดับโลกก็กำลังพัฒนาไปเป็นการปรับเอาระบบออโตเมชัน โลจิสติกส์ ซึ่งหมายรวมถึงการใช้หุ่นยนต์เข้าไปช่วยจัดการในระบบการขนส่งโลจิสติกส์สมัยใหม่มากขึ้น การประยุกต์นำ AI หรือโปรแกรมอัจฉริยะต่างๆมาใช้ในระบบการขนส่งเพื่อให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วย”
“ดังนั้น การที่ทาง มทร.ตะวันออก ได้รับความไว้วางใจจาก EEC HDC ให้เข้ามาดูแลเรื่องของการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และมี ศูนย์เครือข่ายฯ โลจิสติกส์ดิจิทัล มาตั้งที่นี่ จึงเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่จะมาเสริมศักยภาพและประสิทธิภาพให้ทางมหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันการศึกษาในภาคตะวันออก สามารถจัดการเรียนการสอนด้านระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่และผลิตบุคลากรได้ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ได้อัปเดตจำนวนบัณฑิตด้านโลจิสติกส์ ที่ทาง มทร.ตะวันออกผลิตได้ในตอนนี้ว่า ก็ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในพื้นที่ EEC อยู่
“ในตอนนี้ กำลังในการผลิตบุคลากรโลจิสติกส์ของ มทร.ตะวันออก กระจายอยู่ใน 4 วิทยาเขต ในสังกัด โดยเปิดเป็นสาขาวิชา คือ
  • วิทยาเขตจักพงษ์ภูวนารถ เปิดสอนในสาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • วิทยาเขตอุเทนถวาย เปิดสอนในสาขาการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิศกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • วิทยาเขตบางพระ เปิดสอนในสาขาการจัดการโลจิสติกส์  คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์
  • วิทยาเขตจันทบุรี เปิดสอนในสาขาการจัดการโลจิสติกส์ คณะเทคโนโลยีสังคมจะเป็นหลักสูตรโลจิสติกส์ (มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาการเรียนเกี่ยวกับการขนส่งในการค้าชายแดน)

“โดยในปีหนึ่งผลิตกำลังคนได้ประมาณ 300-400 คน ซึ่งก็ต้องบอกตามตรงว่า ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC”

อัปเดตความคืบหน้า ศูนย์เครือข่ายฯโลจิสติกส์ ดิจิทัล เพื่อพัฒนาบุคลากรตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC

เมื่อถามถึง ความคืบหน้า ของการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายฯโลจิสติกส์ ดิจิทัล ที่ มทร.ตะวันออก อธิการบดี ได้อธิบายความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านต่างๆ ดังนี้
  • ประสานงานกับเครือข่ายสถานประกอบการ
ที่ผ่านมา ในเฟสแรกของการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายฯ นี้ ทางมหาวิทยาลัยฯได้เป็นสื่อกลาง ประสานกับเครือข่ายสถานประกอบการ ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญ ในการขับเคลื่อนด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรตามหลักการที่ EEC HDC กำหนด
ทั้งด้วยโมเดลการผลิตบุคลากรในรูปแบบ ไทป์ A ซึ่งก็คือ แนวทางการศึกษาแบบ อีอีซี โมเดล ที่เป็นการข้อตกลงระหว่างสถาบันการศึกษา กับ สถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (ฉะเชิงเทรา– ระยอง–ชลบุรี)

โดยสถาบันการศึกษาจะทำความตกลงร่วมกับสถานประกอบการว่าเด็กที่กำลังศึกษาในแต่ละรุ่นมีจำนวนเท่าไร แต่ละโรงงานต้องการเด็กจำนวนเท่าไร เมื่อคัดเลือกเด็กแล้วโรงงานต้องจ่ายทุนค่าเล่าเรียนมีเงินเดือนระหว่างฝึกงานจนถึงการการันตีรับเข้าทำงานหลังจบการศึกษา ทั้งนี้ ในประเด็นนี้ รศ.ดร.ฤกษ์ชัย กล่าวเสริมด้วยว่า

“ที่ผ่านมาหลักสูตรโลจิสติกส์ที่เปิดสอนที่ มทร.ตะวันออก ของเรา จะมีความแตกต่างจากหลักสูตรในสถาบันการศึกษาอื่นตรงที่ มีการกำหนดให้นักศึกษาต้องไปสหกิจศึกษาหรือฝึกงานอยู่แล้ว แต่ของที่นี่นักศึกษาจะต้องไปฝึกงานมีระยะเวลานานกว่าที่อื่น คือ ตลอดปีการศึกษา เทอมแรก ไปฝึกงานที่ บริษัทหนึ่ง เทอมที่สอง ก็ไปฝึกงานที่อีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งจากการกำหนดให้สหกิจศึกษาของที่นี่มีความพิเศษเช่นนี้ ก็ไปสอดคล้องกันพอดีกับรูปแบบการผลิตบุคลากรในแบบ ไทป์ A หรือ Type A ที่ทาง EEC HDC ต้องการให้เกิดขึ้น”

นอกจากนั้น ทาง มทร.ตะวันออก ยังเป็นผู้ประสานงานกับทางสถานประกอบการ ในส่วนของการคิดค้นหลักสูตรระยะสั้นร่วมกัน เพื่อเปิดอบรมคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในรูปแบบของการ Reskill & Upskill ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการได้อย่างตรงจุด

  • รับเป็นที่ปรึกษาให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรม ด้านโลจิสติกส์ ดิจิทัล
นอกเหนือจากความร่วมมือกับสถานประกอบการในการพัฒนาบุคลากรโลจิสติกส์ร่วมกันแล้ว ทาง มทร.ตะวันออก มีความมุ่งมั่น ที่จะจัดตั้งศูนย์เครือข่ายฯโลจิสติกส์ ดิจิทัล แห่งนี้ ให้เป็นเหมือน “เพื่อนคู่คิด” ของสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการปรับโฉมด้าน การขนส่งหรือโลจิสติกส์สมัยใหม่ ให้เกิดขึ้นจริงด้วย
“เราเชื่อว่าหลายอุตสาหกรรม หลายโรงงาน อยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ เปลี่ยนโรงงานการผลิตโฉมใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีแห่งยุค แต่บางครั้งยังไม่รู้ว่าจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และยังนึกภาพไม่ออก ว่าหน้าตาของโรงงานอัจฉริยะนั้นจะเป็นอย่างไร”
“ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงต้องการเป็นผู้ที่นำเสนอโมเดลจำลองแบบครบวงจร เพื่อให้ทางสถานประกอบการนั้นๆ วาดภาพโฉมหน้าของโรงงานอุตสาหกรรมที่มีระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะออก และจะได้มีแนวทางนำไปพัฒนากระบวนการผลิตของตนเองต่อไป”
“นอกจากนั้น เรายังอาสาไปเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนรูปโฉมโรงงาน ปรับเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสมกับกระบวนการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากเราวางตัวเป็นทั้ง ศูนย์ประสานงาน และศูนย์ปฏิบัติการด้วย ซึ่งตอนนี้เป้าหมายต่อไปคือการสร้าง มินิแฟคทอรี่ ด้านโลจิสติกส์ ในพื้นที่ มทร.ตะวันออก เพื่อสนับสนุนทั้งการเรียนการสอน การอบรม พัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ บ่มเพาะ สตาร์ทอัพหรือบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์สมัยใหม่”

  • สร้างความร่วมมือกับ เครือข่ายผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล
อีกหนึ่งภารกิจที่ มทร.ตะวันออก ตั้งใจทำในโอกาสนี้ เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้ศูนย์เครือข่ายฯนี้ คือ การสร้างความร่วมมือกับ บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายดิจิทัล อย่าง HP, CAT Telecom,หัวเว่ย ที่เห็นชอบในหลักการร่วมกันว่าเราจะปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนโลจิสติกส์ ดิจิทัล โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาคอนโทรล เสริมการเรียนรู้ในหลักสูตรโลจิสติกส์ของสถาบันการศึกษาในภาคตะวันออกให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ตามเทรนด์โลกได้อย่างทันการณ์
“ยกตัวอย่าง อนาคตอันใกล้นี้ เราจะมี Wifi 6 ใช้ โดยล่าสุดทางมหาวิทยาลัย ทำความร่วมมือกับทาง HP เรียบร้อยแล้ว ให้มาติดตั้ง Wifi 6 และวางระบบ IoT เพื่อปูทางสู่การสร้างศูนย์โลจิสติกส์ ออโตเมชัน ครบวงจร”

“ที่ผ่านมา ทาง มทร.ตะวันออก มีหน้าที่ไปเจรจาและนำเสนอว่า ทางมหาวิทยาลัยที่แผนที่จะตัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯและศูนย์เครือข่ายอื่นๆในแบบนี้ ซึ่งก็เป็นรูปเป็นร่างแล้ว และเชื้อเชิญว่าทางแบรนด์นั้นต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างบัณฑิตคุณภาพที่มองเห็นเทรนด์การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ โดยชี้แจงว่าประโยชน์อาจไม่ใช่ทางตรง แต่เป็นงานและบทบาทที่ถ้าตกลงใจทำแล้วมีประโยชน์ต่อประเทศชาติและได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ของประเทศอย่างแน่นอน” รศ.ดร.ฤกษ์ชัย กล่าว

  • จับมือกับ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และเครือข่ายสถาบันการศึกษาทุกระดับ ยกระดับบุคลากรโลจิสติกส์ไทยให้มีมาตรฐานระดับอินเตอร์
ในอีกมิติหนึ่ง รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ได้อัปเดตว่า “เพราะการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ ต้องอาศัยทักษะวิชาชีพเฉพาะ และมีกฎหมายบังคับอยู่แล้วว่าผู้ประกอบอาชีพนี้จะต้องมีใบรับรองการประกอบวิชาชีพนี้ก่อนจึงจะทำงานได้ ทางมหาวิทยาลัยฯจึงได้ประสานงานกับทาง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในเรื่องของการเปิดหลักสูตรอบรม และการขอเป็นศูนย์สอบคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพด้านโลจิสติกส์ ประจำภูมิภาคและประจำพื้นที่ EEC ด้วย”

และเมื่อถามถึงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทุกระดับ ในพื้นที่ EEC ที่เปิดสอนด้านโลจิสติกส์ อธิการบดี มทร.ตะวันออก ตอบชัดเจนว่า

“ภายใต้การจัดตั้ง ศูนย์เครือข่ายฯ โลจิสติกส์ดิจิทัล ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานของศูนย์ฯ ซึ่งมาจากสถาบันการศึกษาต่างๆทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษา รวมถึง สถาบันอาชีวศึกษา โรงเรียน วิทยาลัยอาชีพ ที่อยู่ในเขตพื้นที่นี้ โดยทาง มทร.ตะวันออก เป็นเหมือนเลขาของกลุ่มคลัสเตอร์นี้ และได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าจะมีการแชร์แหล่งข้อมูลกัน เพื่อส่งนักศึกษามาฝึกงานร่วมกันในศูนย์เครือข่ายฯนี้ พร้อมใช้งานศูนย์นี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ของประเทศต่อไป”

ในตอนท้าย รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ย้ำว่า ภายในปี 2564 ศูนย์นี้จะเสร็จสมบูรณ์ กลายเป็นศูนย์เครือข่าย โลจิสติกส์ดิจิทัลแห่งอีอีซีและภาคตะวันออก และชี้ว่า Key success ในการพัฒนาบุคลากรตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งสถานประกอบการที่ต้องมาสื่อสารถึงความต้องการ คุณสมบัติของกำลังคนที่ตนเองต้องการ กับทางสถาบันการศึกษา ส่วนสถาบันการศึกษาก็มีหน้าที่ปรับหลักสูตร และแสวงหาความร่วมมือต่อกับองค์กรธุรกิจอื่นที่จะมาเสริมประสิทธิภาพให้การจัดการเรียนการสอนนั้น มีประสิทธิภาพ ทันสมัย สอดคล้องกับเทรนด์อุตสาหกรรมนั้นๆ
รวมถึงภาครัฐ ที่ต้องสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณ แชร์ความคิด หลักการต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อกำหนดทิศทางการพัฒนาหลักสูตรตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมด้วย
X